เมื่อผมปั่นจักรยาน ไปหลวงพระบาง เมืองมรดกโลก ตอนที่2

หลังจากที่ได้รับการอนุญาต จากภรรยาสูงสุดแล้ว ผมก็เริ่มตระเตรียมของใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่จะใส่ อุปกรณ์การซ่อมรถฉุกเฉิน เช่นชุดปะยาง ยางในพกไปสองเส้น แล้วก็พวกประแจใขควงแบบพกพาขนาดเล็ก กระเป๋าที่ใช้ในการเดินทาง ก็จะเป็นกระเป๋าสำหรับรถทัวร์ริ่งโดยเฉพาะ แบบที่มีถุงด้านข้างใหญ่ๆ สองถุงนั่นล่ะ ใส่สัมภาระเสร็จแล้วยกไปวางบนแร็คท้ายรถได้ทันที ปลดออกเมื่อถึงที่พัก หรือ เวลายกรถขึ้นรถไฟได้สะดวกง่ายดาย แล้วรถจักรยานล่ะ จะใช้คันไหนดี เป็นปัญหาสำหรับผมผู้ไม่เคยปั่นจักรยานทางไกล แถมเป็นการปั่นจักรยานทางไกลระหว่างประเทศเสียด้วย เนื่องจากผมเองก็มีโรคประจำตัวเหมือนคนที่ชอบปั่นจักรยานท่านอื่นๆ นั่นคือ โรคงอก ผมจึงมีทั้งเสือภูเขา เสือหมอบ รถพับ และ รถจักรยานแม่บ้าน เท่าที่สืบค้นมา เส้นทางในลาวค่อนข้างที่จะพัฒนามาบ้างแล้วคือ เป็นถนนลาดยางอย่างดี เพียงแต่ว่า บางจุดอาจมีหลุม มีบ่อ รวมถึง บางช่วงก็จะเป็นทางลูกลัง ซึ่งเป็นเส้นทางเล็กๆ ระหว่างเมือง และที่ผมทราบมา ในระว่างการปั่นจักรยานที่ลาวคือ ถนนในลาวเป็น ภูเขา เกือบๆ 70% อันนี้ผมสรุปเอาเองนะครับ อาจไม่เป๊ะเท่าไหร่ อาศัยการเดาล้วนๆ ตอนเตรียมการผมก็เลยเลือกรถที่เป็น ไฮบริดจ์ พระเอกของผมคือเจ้า นิลกาล Bianchi Camaleonte Cross 2.4 เป็นรถไฮบริดจ์ 24 สปีด จานหน้า 3 ใบ จานหลัง 8 แล้วก็ใส่ยาง 700c หน้ากว้าง 38mm ดิสเบรค ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการตลุยภูเขา พร้อมๆกับการขนสำภาระอีก ประมาณ 20Kilo ผมว่าจะไม่ขนไปเยอะนะครับ เพราะไปกลับทั้งหมด 7 วัน 7 คืน รวมเวลาในการเดินทางจาก กรุงเทพไปยังจังหวัด อุตรดิตโดยรถไฟด้วย แต่ไปๆมาๆ ผมมาสรุปตอนจบทริปแล้ว ของบางชิ้นที่ผมขนไป แทบจะไม่ได้ใช้เลย อาทิเช่น ขาตั้งกล้องขนาดเล็ก ขาจับขวดน้ำติดแฮนด์ และ เสื้อผ้าบางชุด ไม่นับพวกอุปกรณ์ปะยาง เพราะถึงไม่ได้ใช้ ก็ต้องมีติดไปด้วยนะครับ สำคัญมาก และ การปะยางด้วยชุดปะเร็ว ก็ต้องเคยมีการซ้อมปะ มาก่อน ไม่ใช่ไปลุยเอาดาบหน้านะครับ บางสถานะการ เราอาจปั่นอยู่ในเส้นทางที่โหดร้าย และ ห่างไกลผู้คน รวมถึงผู้ร่วมทริปด้วยกันเองเลย เพราะบางเวลา ต่างคนต่างปั่นไปข้างหน้า ไม่มีใครมารอเรานะครับ เพราะเห็นเนินภูเขาแล้ว ความเหนื่อยล้าจะมารออยู่ ต้องผ่านมันไปให้ได้ก่อน เรื่องอื่นเอาไว้ทีหลัง ดังนั้นเราต้องหัดช่วยตัวเองก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรนะครับ ขอเสริมเรื่องการเตรียมชุดในการใส่แต่ละวันหน่อยครับ อย่างที่บอกครับว่าบางชุดที่เตรียมมานั้น ไม่ได้เอามาใส่เลย จึงต้องบอกเคล็ดลับกันหน่อย ผมจะเตรียมชุดปั่นมา สองชุด ชุดใส่นอนเสื้อยืด กางเกงขาสั้นหนึ่งชุด ใส่นอนทุกวัน มันไม่ถึงกับเหม็นหรอก เสื้อยืดผ้าสแปนเด็ค ที่เป็นผ้ายืดมันๆ บางๆใส่แล้วแนบเนื้อนะครับ มันจะซับเหงื่อได้ดี และแห้งเร็ว เอาไว้ใส่ปั่นสลับกับเสื้อปั่น ผมจะเป็นคนประเภทไม่ค่อยตามกระแสเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เขาจะใส่ชุดปั่นจักรยานกัน แต่ผมว่ามันไม่เหมาะ ที่จะเอามาใส่ปั่นทัวร์ริ่ง เพราะชุดปั่นเขาออกแบบมาให้มันรัดรูป เพื่อให้แหวกอากาศได้ดี ไม่เป็นภาระ กินแรงในการปั่นของเราไง แต่เราปั่นทัวร์ริ่งนะครับ เราไม่ได้ไปแข่ง เพราะฉนั้น ผมจะใส่กางเกงปั่นเพราะมันมีฟองน้ำรองตูด มันอาจช่วยได้เยอะ เพราะเวลาที่เราอยู่บนอานนั้น ร่วมๆ 10 ชั่วโมงในบางวัน เพราะฉนั้น ก้นคุณระบบแน่นอน ถ้าปั่นเกิน สองวัน เพราะฉนั้น ไปฝึกการระบมของตูดมาให้ดีก่อนออกไปปั่นทางไกล ผมเตือนคุณแล้วนะ อิอิ ในส่วนของอุปกรณ์ไอที ก็ต้องมีพวก สายไฟ สายชาร์จ แบตเตอรี่สำรอง เพาเวอร์แบงค์ เตรียมก้อนใหญ่ไปก้อนเดียวพอ มันหนัก หาถุงหรือ กระเป๋าผ้าเล็กๆ ใส่แยกไว้ต่างหากเลย เวลาจะหยิบใช้จะได้หาง่าย พวกชิ้นที่ใช้บ่อยๆ เช่น โทรมือถือ ผมจะใช้จับสัญญาญ GPS เพื่อเก็บระยะทาง และใช้ดูแผนที่ ผมจะเอามาเก็บไว้ที่กระเป๋าวางบนเหล็กนอน จะได้สะดวกในการดูแล และก็พวก กล้องถ่ายรูป แต่จากประสบการณ์ ผมชอบที่จะเอามือถือมาถ่ายมากกว่า เพราะมันง่ายที่จะเก็บ ง่ายที่จะเปิดดู บางทีการพกพากล้องตัวใหญ่ๆ ในการเดินทางต่างบ้านต่างเมือง มันก็อันตรายพอสมควรนะครับ ถ้าเราไม่ได้ไปกะกรุ๊ปทัวร์ หรือพรรคพวกเยอะๆ ยิ่งโดยเฉพาะการเดินทางด้วยจักรยาน ต้องลดน้ำหนักให้มากที่สุดครับ
การเตรียมอุปกรณ์ต่างๆเรียบร้อยแล้ว ก็เหลือ การเตรียมร่างกายแล้วล่ะครับ จะทำอย่างไร คนที่ไม่เคยปั่นเกิน 100 กิโลให้สามารถ ไปปั่นจักรยานทัวร์ริ่งที่มีน้ำหนัก รวมกับสิ่งของสัมภาระ แล้วร่วมๆ 40 กิโลกรัมเลยทีเดียว ให้สามารถปั่นข้ามเขา ลูกแล้ว ลูกเล่าได้ โดยไม่ต้องโบกรถโดยสาร ถ้าไปถามคนที่เดินอยู่ข้างถนนทางที่จะไปหลวงพระบางว่า “พี่ผมจะไปหลวงพระบางได้ยังไง” เขาจะตอบกลับมาว่า “เอ็งต้อง ซ้อม ซ้อม แล้วก็ ซ้อม เท่านั้น” นั่นล่ะครับท่านผู้ชม ผมจะต้องซ้อมปั่นจักรยานเพื่อเตรียมกล้ามเนื้อหัวใจ ปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก้มก้น ให้มันด้านทนได้กับการนั่งบดบนอานจักรยาน ให้ได้ 10 ชั่วโมงต่อวัน แค่คิดก็เหนื่อยล่ะครับ ผมจะอาศัยการซ้อมปั่นบนเทรนเนอร์เป็นหลัก ให้ได้ วันละ 40 นาทีเป็นอย่างน้อยต่อวัน เพื่อฝึกหัวใจโซนสอง ทำให้ได้ทุกวันติดกันทั้งอาทิตย์ ต่อเนื่องกันไป สอง ถึง สาม เดือน แต่เอาเข้าจริงๆ ผมก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางวันกลับบ้านมืด ก็เหนื่อยละครับ แต่เท่าที่ผมไปเจอมา ผมไหวครับ การปั่นจักรยานทางไกล มันยืดหยุดได้ ถ้าเราเหนื่อยเราก็ลดเกียร์เบาลง ใช้รอบขาช่วย เหนื่อยก็จอดพัก ถ่ายรูป คุยกะชาวบ้านไป ซึ่งสองข้างทางใน ชนบทของชาวลาวนั้น สวยงามในแบบของมันครับ ความบริสุทธิ์ ของเด็กๆ ของคนแก่ คนทำงาน ของชาวลาวยังเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ผมชอบนะ ไว้จะมาเล่าตอนต่อไปเนาะ วันนี้พอก่อน อิอิ

Scroll to Top