“ขอโทษ…ลืมไป…ตอนนั้นยังไม่มีประเทศออสเตรเลียเลย…”
ในอดีตพวกนักศึกษาฝรั่งชาวออสซี่ เคยมาดูถูกพ่อหลวงเรา
จึงขออัญเชิญ พระราชดำรัสของสมเด็จราชินี ที่ทรงเล่าถึง วิธิกำหลาบฝรั่งไร้มารยาทพวกนี้ ของพ่อหลวงของเรา ว่าสุดสง่างามเพียงไหน…
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเยือนประเทศออสเตรเลีย พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม – 12 กันยายน ปีพุทธศักราช 2505 นั้น
มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ หอประชุมของมหาวิทยาลัย
ในครั้งนั้นได้เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดคิด กล่าวคือ นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้แสดงกิริยามารยาทอันไม่บังควรยิ่งต่อพระองค์ แต่พระองค์ได้แสดงออกถึงพระจริยาวัตรอันงดงามในฐานะกษัตริย์ที่ทรงขันติธรรม
และพระราชปฏิภาณในมหาสมาคม ทรงปราบความทระนง โอหัง หยาบคายของบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยที่แสดงกิริยามารยาทไร้วัฒนธรรมอันดีงามได้อย่างราบคาบ
อาจกล่าวได้ว่านี่คือพระเดชานุภาพที่เปล่งประกายจนทำให้คนเหล่านั้นพ่ายแพ้ด้วยพระราชดำรัสเพียงไม่กี่ประโยค
…จึงขออัญเชิญพระดำรัสเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมาไว้ในบันทึกนี้เพื่อร่วมกันชื่นชมในพระราชจริยาวัตรของในหลวงซึ่งเป็นพ่อหลวงในดวงใจไทยทุกคน
มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่พระเจ้าอยู่หัว
พอเราไปถึงมหาวิทยาลัย ก็ต้องเดินผ่านกลุ่มชายหญิงซึ่งเข้าใจว่าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น มีพวกหนึ่งยืนอยู่นอกหอประชุม ด้านที่เป็นประตูกระจกเปิดอยู่เป็นระยะๆ
ทำให้มองเข้าไปเห็นและได้ยินเสียงจากเวทีข้างในได้ กลุ่มนี้บางคนแต่งกายไม่เรียบร้อยเลย แต่กลุ่มอื่นๆ บางพวกก็ดูดี เมื่อข้าพเจ้าตามเสด็จฯ ผ่านจะเข้าไปในหอประชุม บางพวกก็ปรบมือให้
บางพวกก็มองดูเฉยๆ ไม่ยิ้มไม่บึ้ง แต่บางพวกมองดูด้วยสายตาประหลาด แล้วมีการหันไปพูดซุบซิบและหัวเราะกันก็มี
ตัวข้าพเจ้าเองก็อดที่จะมองดูเขาอย่างประหลาดใจไม่ได้เหมือนกัน เพราะเห็นว่าท่วงทีที่คนบางคนยืนช่างไม่น่าดูเลย การแต่งเนื้อแต่งตัวก็ดูจะจะเป็นเครื่องแต่งกายของพวกที่อยากจะเรียกร้องความสนใจ
มากกว่าที่จะให้นึกว่าเป็นนักศึกษาอันควรจะเป็นปัญญาชน
เมื่อเราเข้าไปถึงในหอประชุมนั้น มีผู้คนเต็มไปหมดเกือบทุกที่นั่ง เป็นนักศึกษา ศาสตราจารย์ คนสำคัญของเมืองเมลเบิร์นและนักหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
เขาจัดให้ข้าพเจ้าและผู้ติดตามนั่งอยู่ตรงที่คนดูข้างล่างแถวหน้า ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปบนเวทีพร้อมด้วยอธิการบดี คณบดี และกรรมการของมหาวิทยาลัย
เมื่อพิธีเริ่มต้น อธิการบดีก็ลุกขึ้นไปอ่านคำสดุดีพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวก่อนที่จะถวายปริญญา
ทันใดนั้นเองข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงเอะอะเหมือนโห่ปนฮาอยู่ข้างนอก คือจากกลุ่ม “ปัญญาชน” ซึ่งยืนท่าต่างๆ ที่ไม่น่าดู เช่น เอาเท้าพาดต้นไม้บ้าง ถ่างขามือเท้าสะเอวบ้าง
เสียงโห่ปนฮาของเขาดังพอที่จะรบกวนเสียงที่อธิการบดีกำลังกล่าวอยู่ทีเดียว ข้าพเจ้ารู้สึกว่าอารมณ์โกรธพุ่งขึ้นมาทันที เกือบจะระงับสติอารมณ์ไม่ไหว
มองขึ้นไปบนเวทีเห็นบรรดาศาสตราจารย์และกรรมการมหาวิทยาลัยที่นั่งอยู่บนนั้นต่างก็หน้าจ๋อย ซีดแทบไม่มีสีเลือด ท่าทางกระสับกระส่ายด้วยความละอายไปด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าคนกลุ่มนั้นเป็นเด็กเล็กๆ ก็คงจะมีผู้ใหญ่ลุกขึ้นออกไปตีคนละเผียะสองเผียะ เพื่อสั่งสอนอบรมให้รู้จักมารยาทของเจ้าของบ้าน
แต่นี่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งสมมติว่าเป็น “ปัญญาชน” ด้วยกันทั้งนั้น ที่ส่งเสียงไม่น่าฟังออกมาอย่างผิดเวลา ผิดกาลเทศะที่สุด
ข้าพเจ้าชำเลืองมองดูพวกเราเห็นนั่งตัวแข็งไปตามๆ กัน ครั้นอธิการบดีอ่านคำสดุดีพระเกียรติจบลง ก็ถวายปริญญา
ต่อจากนั้นก็ถึงเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปพระราชทานพระราชดำรัสที่เครื่องขยายเสียงกลางเวที ยังไม่ทันจะอะไร ก็มีเสียงโห่ปนฮาดังขึ้นมาจากกลุ่ม “ปัญญาชน” ข้างนอกอีกแล้ว
ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามือเย็นเฉียบ หัวใจก็หวิวๆ อย่างไรพิกล รู้สึกสงสารพระเจ้าอยู่หัวจนทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าแม้แต่จะมองขึ้นดูพระพักตร์ท่าน ด้วยความสงสารและเห็นพระทัย
แต่แล้วข้าพเจ้าเองนั่นแหละที่เป็นผู้ได้กำลังใจกลับคืนมา เพราะมองดูท่านขณะที่ทรงพระดำเนิน ไปยืนกลางเวที เห็นพระพักตร์สงบเฉย ทันใดนั้นเอง
คนที่อยู่ในหอประชุมทั้งหมดก็ปรบมือเสียงสนั่นหวั่นไหวคล้ายจะถวายกำลังพระทัยท่าน พอเสียงปรบมือเงียบลง คราวนี้ข้าพเจ้ามองขึ้นไปบนเวทีอีก
ก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดพระมาลาที่ทรงคู่กับฉลองพระองค์ครุย แล้วหันพระองค์ไปโค้งคำนับคนกลุ่มที่ส่งเสียงอยู่ข้างนอกอย่างงดงามน่าดูที่สุด
พระพักตร์ยิ้มนิดๆ พระเนตรมีแววเยาะหน่อยๆ แต่พระสุรเสียงราบเรียบยิ่งนัก
“ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อยที่ท่านมีต่อแขกเมืองของท่าน”
รับสั่งเพียงเท่านั้นเอง แล้วก็หันพระองค์มารับสั่งกับผู้ที่นั่งฟังอยู่ในหอประชุม ตอนนี้ข้าพเจ้าอยากจะหัวเราะออกมาดังๆ ด้วยความสะใจ
เพราะเสียงฮานั้นเงียบลงทันทีราวกับปิดสวิทช์ แล้วตั้งแต่นั้นก็ไม่มีอีกเลย ทุกคนทั้งข้านอกข้างในต่างนั่งฟังพระราชดำรัสเฉย ท่าทางดูขบคิด
ข้าพเจ้าเห็นว่าพระราชดำรัสวันนั้นดีมาก รับสั่งสดๆ โดยไม่ทรงใช้กระดาษเลย ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทยเราว่า เรามีเอกราช มีภาษาของเราเอง มีตัวหนังสือซึ่งคิดค้นใช้ขึ้นเอง
เราตั้งกฎหมายการปกครองของเราเอง ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมา 700 ปี กว่ามาแล้ว
…ตอนนี้ข้าพเจ้าขำแทบแย่ เพราะหลังจากรับสั่งว่า …700 ปีกว่ามาแล้ว… ทรงทำท่าเหมือนเพิ่งนึกออก ทรงสะดุ้งนิดๆ และทรงโค้งพระองค์อย่างสุภาพเมื่อตรัสว่า
“ขอโทษ…ลืมไป…ตอนนั้นยังไม่มีประเทศออสเตรเลียเลย…”
แล้วทรงเล่าต่อไปว่า แต่ไหนแต่ไรมาคนไทยเรามีน้ำใจกว้างขวางพร้อมที่จะให้โอกาสคนอื่นและฟังความเห็นของเขา เพราะเรามักใช้ปัญญาขบคิด
ไตร่ตรองหาเหตุผลก่อนจึงจะตัดสินว่าสิ่งไรเป็นอย่างไร ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินอะไรตามใจชอบโดยไม้เหตุผล…”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำความสง่างามมาให้ประเทศไทย และคนไทย ที่มีอารยธรรมมาก่อนประเทศออสเตรเลียในทุกด้าน นี่เป็นความภาคภูมิใจที่เรามีในหลวงที่สมบูรณ์ด้วย “ทศพิธราชธรรม” ทรงเป็นราชาอันเป็นสง่าแห่งแคว้น ทรงมีพระอัจฉริยภาพ พระปฏิภาณ ขันติธรรม ทรงพรั่งพร้อมจริยาวัตรอันงดงาม มีพระเดชานุภาพเป็นที่ปรากฏแก่สายตาชาวโลก
เราคนไทยโชคดีเหลือเกินที่มีในหลวงที่เป็นศรีสง่าแห่งประเทศไทย
ที่มา Maysinee Sitdhichai, หนูน้อยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ