มาปลูกผักสวนครัวกินกันเอง เอ๊ย กินเองกัน

เคยคิดไหมครับว่าถ้าบ้านเราพอจะมีพื้นที่บ้าง เราจะปลูกผักกินเอง ฮั่นแน่ เคยคิดชิมิ ชิมิ แล้วพอจะเอาจริงขึ้นมา เคยเกิดคำถามไหมครับว่า เอ๊ะ หัวหอมต้องปลูกยังไง หว่านเมล็ด หรือ แยกเหง้า พริกล่ะ กระเทียมล่ะ ปลูกยังไง มา มา พอดีมีเพื่อนสมาชิกโพสลงในพันทิพย์ ผมก็เลยขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่ออีกทางนะครับ มาเริ่มกันเลย

๑. ผักกะหล่ำ ผักคะน้า และผักสลัด
– เป็นผักที่เรากินใบ เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักกาดเขียว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักสลัดต่างๆ
– กดดินเป็นหลุมลึกครึ่งเซนติเมตร หยอดเมล็ดหลุมละ ๕-๗ เมล็ด แล้วกลบดินทับบางๆ คลุมด้วยฟางหนา ๑ เซนติเมตร  รดน้ำ
– พอต้นกล้างอก นับใบจริงได้ ๒-๓ ใบ ใช้กรรไกรตัดต้นอ่อนให้เหลือหลุมละ ๓ ต้นเมื่อมีใบจริง ๔ ใบตัดเหลือ ๒ ต้น ใบจริง ๕ ใบตัดเหลือ ๑ ต้นที่แข็งแรงที่สุด (ต้นอ่อนที่ตัดทิ้งนำมากินได้เลย กรอบอร่อย)
– ผักกลุ่มนี้ต้องการความชุ่มชื้น รดน้ำให้ชุ่มเสมอ อย่าให้แห้ง  เฉพาะผักสลัดตั้งกระถางในร่มหรือแสงรำไร
– ระยะเก็บเกี่ยว : ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักสลัด ๔๕ วัน  ผักกาดเขียว ๖๐ วัน  กะหล่ำต่างๆ ๗๕-๙๐ วัน
– ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาว เก็บผักโดยเหลือใบไว้กับต้น ๒ ใบ ต้นจะงอกใบใหม่ให้เก็บได้อีก ๒-๓ ครั้ง

๒. ผักบุ้ง ผักชี
– เป็นผักที่เรากินใบ เช่น ผักบุ้งจีน ผักชี ขึ้นฉ่าย
– ผักบุ้งให้กดดินเป็นร่องตามยาวแล้วโรยเมล็ดเป็นแถวลงในร่อง กลบดินทับบางๆ คลุมด้วยฟางหนา ๑ เซนติเมตร แล้วรดน้ำ
– ผักชีกับขึ้นฉ่ายให้ปลูกแบบเดียวกับผักกะหล่ำ
– ผักบุ้งจีนต้องการแดดทั้งวัน แต่ผักชีและขึ้นฉ่ายชอบให้มีร่มเงาบ้าง
– ผักกลุ่มนี้ต้องการความชุ่มชื้น รดน้ำให้ชุ่มเสมอ อย่าให้แห้ง
– ระยะเก็บเกี่ยว : ผักบุ้งจีน ๓๐ วัน ผักชี ๔๕-๖๐ วัน ขึ้นฉ่าย ๖๐-๙๐ วัน

๓. แมงลัก โหระพา กะเพรา และผักชีฝรั่ง
– เป็นผักที่เรากินใบ เช่น แมงลัก โหระพา กะเพรา ผักชีฝรั่ง
– แมงลัก โหระพา กะเพรา ปลูกแบบเดียวกับผักกะหล่ำ หมั่นเด็ดดอกทิ้งเพื่อให้ต้นและใบเจริญเติบโตเต็มที่
– ผักชีฝรั่งนอกจากปลูกด้วยเมล็ดแบบผักกะหล่ำแล้ว ยังใช้ลำต้นที่มีรากติดปักชำได้ด้วย
– แมงลัก โหระพา กะเพรา รดน้ำวันละครั้งก็พอ  ส่วนผักชีฝรั่งชอบความชุ่มชื้น อย่าให้แห้ง
– ระยะเก็บเกี่ยว : โหระพา กะเพรา แมงลัก ๔๕ วัน  ผักชีฝรั่ง ๖๐ วัน

๔. แตงและถั่วบางชนิด
– ผักกลุ่มนี้เป็นไม้เถาเลื้อยที่เราเก็บกินผล เช่น บวบหอม ฟักเขียว แตงกวา แตงร้าน แตงไทย ฟักทอง น้ำเต้า มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ถั่วพู ตำลึง
– หยอดเมล็ดโดยวางหลุมละ ๕ เมล็ด (ห่างกัน) แล้วกดหลุมลึกลงไปในดิน ๒-๔ เซนติเมตร คลุมฟางในหลุมหนา ๒ เซนติเมตร กลบดินให้ปิดเมล็ด
– รดน้ำแล้วปักไม้ค้างสำหรับให้พืชเกาะไว้  ถ้าปักหลังจากต้นงอกแล้วอาจโดนรากพืชขาดเสียหาย
– พอต้นกล้างอกมีใบเลี้ยงและใบจริงนับได้ ๖-๗ ใบ ถอนเหลือแต่ต้นแข็งแรงไว้หลุมละ ๓ ต้น ปล่อยโตทั้ง ๓ ต้น ไม่ต้องถอนอีก
– ห้ามพรวนโคนต้น เพราะจะทำให้รากขาด ต้นผักจะอ่อนแอต่อโรคและแมลง
– ระยะเก็บเกี่ยว : ๔๐-๖๐ วัน

๕. พริก มะเขือ
– เป็นผักที่เรากินผล เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือพวง มะเขือเทศ
– กลุ่มนี้ต้องเพาะกล้าก่อน โดยใช้ภาชนะพลาสติกโปร่งๆ หรือถ้วยพลาสติกเจาะรูที่ก้นจนพรุน สูงไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ใส่ดินในภาชนะแล้วหว่านเมล็ดให้กระจายบนผิวดิน กลบดินทับบางๆ รดน้ำ ใส่ภาชนะในถุงพลาสติก มัดปากถุง แล้วตั้งทิ้งไว้ ไม่ต้องรดน้ำอีก
– เมื่อต้นกล้ามีใบเลี้ยง ๒ ใบ แกะถุงออก รดน้ำวันละครั้งจนมีใบจริง ๒ ใบ ให้ย้ายไปลงในถุงเพาะชำสีดำขนาด ๒ นิ้ว (ซื้อได้ตามร้านขายต้นไม้ทั่วไป) จนต้นโตมีใบจริง ๕-๖ ใบ จึงย้ายต้นลงในกระถางจริง รดน้ำให้ชุ่ม
– ระยะเก็บเกี่ยว : มะเขือ ๙๐ วัน พริก ๑๒๐ วัน

๖. หอม กระเทียม
– เป็นผักที่เราเก็บหัวมาใช้ เช่น ต้นหอมหรือหอมแบ่ง หอมแดง กระเทียม
– ปลูกโดยใช้หัวที่เก็บไว้นาน ๔ เดือนแล้วเอามาตัดรากแห้งออก  แยกหัวออกเป็นหัวเดียว ฝังลงดินให้ปลายหัวเสมอผิวดิน เว้นระยะระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร คลุมฟางทับหนา ๑ เซนติเมตร รดน้ำ
– เมื่อต้นงอกได้ ๑๕ วันจึงค่อยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก
– ต้นหอมต้องหมั่นกำจัดวัชพืช และรดน้ำให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ
– ระยะเก็บเกี่ยว : ต้นหอม ๔๕ วัน หอมแดง ๖๐ วัน กระเทียม ๙๐ วัน

๗.ขิง ข่า
– เป็นผักที่เราเก็บเหง้าใต้ดินมาใช้ เช่น ขิง ข่า กระชาย ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน
– ใช้แง่งขิงหรือขมิ้นแก่มาตัดเป็นท่อนๆ ยาว ๑ นิ้ว  สำหรับข่าให้ใช้ส่วนที่ติดต้นเหนือดินไว้บางส่วน กระชายให้ตัดรากออก
– เอาปูนแดงทาตรงรอยแผลที่ตัด ทิ้งให้แผลแห้งแล้วจึงนำมาฝังดินลึก ๑๐-๑๕ เซนติเมตร คลุมฟางทับ รดน้ำ
– รดน้ำวันละ ๑ ครั้ง
– ระยะเก็บเกี่ยว : ขิง ๑๒๐ วัน  ข่า ขมิ้น กระชาย มากกว่า ๒๔๐ วัน แต่ถ้าต้องการขิงข่าอ่อนเก็บได้ใน ๓๐ วัน
– เดือนพฤศจิกายน-เมษายน เป็นช่วงที่ขิงข่าพักตัวทิ้งต้นเหลือแต่เหง้าใต้ดิน เดือนพฤษภาคมจึงงอกต้นขึ้นใหม่

Scroll to Top