มันพื้นบ้านของไทยมีการปลูกและบริโภคมานานก่อนที่จะรู้จักมันฝรั่ง และมันเทศที่มาจากต่างประเทศเสียอีก และจากที่กระแสผู้บริโภคเริ่มสนใจในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้ตลาดมัน เริ่มหันมาสนใจมันพื้นบ้านของไทยเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
นักวิชาการของไทยหลายสำนักได้ศึกษาสารหลายชนิดที่อยู่ในมันพื้นบ้าน พบว่า มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณในการรักษาระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ช่วยบำรุงรักษาสุขภาพของสตรีวัยหมดประจำเดือน
และยังอุดมไปด้วยแคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม วิตามินซี และกรดโฟลิก ที่ผ่านมามันพื้นบ้านของไทยจะนิยมไปหาและขุดมาจากป่าตามธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้เวลาในการหา และขุดขึ้นมา จึงยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของการคิดค้นวิธีการปลูกเชิงพาณิชย์ขึ้นในทุกวันนี้
ซึ่งปรากฏว่ามีเกษตรกรหลายแห่งได้หันมาปลูก และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยเฉพาะมันเลือดนก ซึ่งเป็นมันที่ใช้เวลาปลูกเพียง 7-8 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
นอกจากนี้งานในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในหลายพื้นที่ และหลายหน่วยงานที่น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการ
ได้มีการนำมันพื้นบ้านเหล่านี้มาปลูก ทั้งเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชของไทย และเพื่อการขยายผลสู่การเพาะปลูกของเกษตรกรโดยทั่วไป อย่าง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบันได้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของบริเวณ อ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่จัดทำโครงการ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เพื่อขยายผลสู่การรับรู้ของสังคมและนำไปขยายผลในผู้คนปลูกในพื้นที่ของตนเอง
เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเปิดเผยถึงขั้นตอนในการเพาะปลูกมันเลือดนกว่า ในการขยายพันธุ์ จะใช้หัวพันธุ์เล็ก ๆ ที่มีความสมบูรณ์นำไปแช่น้ำประมาณ 15 นาที จากนั้นนำไปแช่ในสารป้องกันและกำจัดแมลง เชื้อราและฮอร์โมนเร่งราก ประมาณ 5 นาที แล้วเอาไปผึ่งลมให้แห้ง
จากนั้นนำไปชำลงถุงชำดำขนาด 3×7 นิ้ว ใช้วัสดุชำเป็น ขี้เถ้าแกลบ ดินร่วน ทรายหยาบ ในสัดส่วน 1:1:1 กลบหัวมันให้มิดหัวพอดีและนำไปไว้ในโรงเรือนที่มีตาข่ายพรางแสงประมาณ 50% รดน้ำวันละครั้ง เช้าหรือเย็นก็ได้
ประมาณ 45 วัน จะมียอดนำงอกขึ้นมา ก็สามารถนำไปปลูกลงแปลงที่เตรียมไว้ได้ พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 2,000 หลุม โดยใช้ระยะปลูกระหว่างหลุมประมาณ 75 เซนติเมตรและระหว่างแถว 1 เมตร
เมื่อนำต้นกล้าลงปลูกแล้วให้กลบดินให้แน่น ใช้ไม้ไผ่ลวกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 นิ้ว ยาว 2-2.5 เมตร ปักข้างหลุมปลูกเพื่อให้มันเลื้อยขึ้นมา การปลูกควรเป็นต้นฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเก็บเกี่ยวหัวได้ในเดือนธันวาคม ให้น้ำในช่วงเริ่มปลูก 15 วันแรกให้วันละครั้ง เช้าหรือเย็นก็ได้
วันใดฝนตกไม่ต้องให้ ครบ 15 วัน ให้ 2-3 วัน ต่อครั้ง และสัปดาห์ละครั้งเมื่อ 1 เดือนครึ่งถึง 4 เดือนครึ่ง จากนั้นหยุดให้น้ำจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว และตลอดการปลูกไม่ควรใส่ปุ๋ยเคมี เพราะเป็นพืชกินหัว หากต้องใส่ควรเป็นปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ จะเป็นการดีที่สุด
สำหรับตลาดนั้นปัจจุบันมีความต้อง การสูง ส่วนใหญ่จะนำมาบริโภคในรูปแบบมันต้ม หรือนำไปประกอบกับอาหารชนิดอื่น ๆ เช่น ขนม ใส่ในไอศกรีม มันเชื่อม เป็นต้น.
ที่มา : เดลินิวส์